Wednesday 3 July 2013

บทที่ 1 ความหมายและความสำคัญของครู

บทที่ 1
ความหมายและความสำคัญของครู

ความเป็นครู
                ในสังคมไทยและตามประเพณีไทยให้เกียรติยกย่องสำหรับผู้ที่ทำหน้าที่ของ ครู  ว่าเป็น  พ่อพิมพ์  แม่พิมพ์ของชาติ  เป็นปูชนียบุคคล  เป็นผู้นำในชุมชน  เพราะฉะนั้นผู้ที่จะเป็นครูจะต้องตระหนักในความเป็นครูและประพฤติปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับที่ได้ชื่อว่า ครู  ในทุกสถานการณ์ที่ดำรงอยู่  โดยที่ครูมีหน้าที่ถ่ายทอดวิชาการต่าง ๆ บทบาทของครูอีกมุมหนึ่งถือว่าเป็นผู้จุดประทีปแห่งปัญญาไว้ในดวงจิตของศิษย์ทุกคน  เป็นประทีปแห่งปัญญาที่ส่องสว่างไม่มีวันจบสิ้น  แสงประทีปนั้น ก็คือ ปัญญาที่บังเกิดแก่ศิษย์  เพื่อนำความรู้ไปปฏิบัติถ่ายทอดต่อไป  เป็นรุ่นต่อรุ่นอย่างไม่มีที่สิ้นสุดหรือเรียกว่าเป็นมรดกทางปัญญาที่ไขความมืดให้สว่างไสว  ดังคำกล่าวที่ว่าครู คือ ผู้
-                   หงายของที่คว่ำ  ( ให้ความรู้โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ )
-                   เปิดของที่ปิด  ( เป็นผู้เจียรนัยให้เกิดความงามแห่งปัญญา )
-                   บอกทางแก่คนหลงทาง  ( ชี้ทางที่นำไปสู่ความสำเร็จและความดีงาม )
-                   จุดประทีปในความมืด  ( ถ่ายทอดความรู้ให้ทั้งหมดเป็นการให้ความจริงแก่ชีวิต )
ผู้ที่ทำหน้าที่ของการเป็น ครู พึ่งตระหนักในวิชาชีพครูประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์และบุคคลทั่วไป  ซึ่งปรากฏในพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช     ในโอกาสที่นายบุญถิ่น   อัตถากร  ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ   นำครูและนักเรียนในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามจากภาคใต้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลี พระบาท   เมื่อวันจันทร์ ที่  21 กุมภาพันธ์  2515   ดังได้อัญเชิญมา ณ ที่นี้
ความเป็นครูเป็นของมีค่า  ความเป็นครู  หมายถึง  การมีความรู้ดี  ประกอบด้วยหลักวิชาที่ถูกต้องแน่นเฟ้นและแจ่มแจ้งแก่ใจ  กอปรทั้งคุณงามความดี  และความเอื้ออารีปรารถนาดีที่จะถ่ายทอดเผื่อแผ่ให้แก่คนอื่น  ได้มีความรู้ความเข้าใจที่ดีด้วย.

ความหมายของครู
                ความหมายของคำว่า ครู  ความจริงมีความหมายตามนัยของศัพท์มีความลึกซึ้งตามลักษณะของวิชาชีพ  ครู  มีรากศัพท์มาจากภาษาบาลี  คือ ครุ คุรุ  และในภาษาสันสกฤต  คือ คุรุ  ในความหมายที่เป็นคำนาม  แปลว่า  ผู้สั่งสอนศิษย์หรือผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์  ส่วนความหมายที่เป็นคำวิเศษณ์ในภาษาบาลี  แปลว่า  หนัก  สูง  ส่วนในภาษาสันสกฤต  แปลว่า ใหญ่ หรือ หนักและ
                ครูหมายถึง ผู้รับภาระอันหนัก คือ การอบรมสั่งสอนศิษย์ผู้ควรเคารพหรือผู้เป็นที่พึ่งของศิษย์
                ครู คือ ผู้มีภาระหน้าที่สำคัญในการอบรมนิสัยเด็กให้บรรลุผลอันดีงามและถ่ายทอดความรู้ให้กับเด็กๆเพื่อเป็นเครื่องมือในการประกอบเลี้ยงชีพต่อไป
                มีนักการศึกษาได้ให้ความหมายของ ครู  ไว้หลาย  ๆ  ท่านและแตกต่างกัน  เช่น  ยนต์  ชุ่มจิต  กล่าวไว้ในหนังสือ Dictionary  of  Education  ครู หรือ  Teacher  ดังนี้
1.               ครู  คือ  บุคคลที่ทางราชการจ้างไว้  เพื่อทำหน้าที่ให้คำแนะนำหรืออำนวยในการจัดการเรียนการสอนและจัดประสบการณ์การเรียนสำหรับนักเรียนหรือนักศึกษาในสถานศึกษา  ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนทั่วไป
2.               ครู  คือ  บุคคลที่มีประสบการณ์หรือมีการศึกษามาก ดีเลิศเป็นพิเศษหรือมีทั้งประสบการณ์และการศึกษาดีเป็นพิเศษในสาขาใดสาขาหนึ่งที่สามารถช่วยให้บุคคลอื่น ๆ  เกิดประสบการณ์ มีความเจริญงอกงามและมีพัฒนาการก้าวหน้าได้
3.               ครู  คือ  บุคคลที่สำเร็จหลักสูตรวิชาชีพจากสถาบันที่มีการเรียนหลักสูตรครูและการรับการฝึกอบรมที่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้องเป็นทางการ  โดยมการมอบวุฒิบัตรและประกาศนียบัตรทางการสอนซึ่งมีการระบุไว้อย่างชัดเจนให้บุคคลนั้น ๆ
4.               ครู  คือ  บุคคลที่อบรมสั่งสอนให้ผู้อื่นมีความเจริญ ทางปัญญาสามารถประกอบอาชีพได้
ครู  หมายถึง  บุคคลที่อบรมสั่งสอน  ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ศิษย์เป็นผู้ที่มีความหนักแน่นควรแก่การเคารพบูชาของศิษย์  และ
ครู  หมายถึง  ผู้ประกอบวิชาชีพอย่างหนึ่งและทำหน้าที่สอนคนและมักจะใช้กับผู้ที่สอนต่ำกว่าระดับมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษา
คำว่า  ครู  หรือ Teachers  ถ้าแยกความหมายตามตัวอักษรของคำในภาษาอังกฤษมี  8  คำ  สามารถแยกได้ดังนี้
T =  Teaching  and  Training     การสั่งสอนและการฝึกฝนอบรม
E =  Ethics           การอบรมคุณธรรมและจริยธรรม
A =  Academic   การค้นคว้าวิจัยหรือการแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ
C =  Culture  Heritage     การถ่ายทอดวัฒนธรรม
H  =  Human  Relationships           การสร้างมนุษย์สัมพันธ์
E  =  Extra   jobs               การปฏิบัติหน้าที่พิเศษต่าง  ๆ
R  =  Reporting and Counseling   การรายงานผลและการ     แนะแนว
S  =  Student  Actualities                การจัดกิจกรรมนักเรียน

                จากงานวิจัยของอาจารย์สมหวัง   พิริยานุวัฒน์  เรื่องการยกย่องครูผู้มีผลงานดีเด่น  ปี  2542  อ้างในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  2542  ได้กำหนดนิยามของครูและแยกนิยามอาจารย์ไว้ดังนี้
                ครู  หมายความว่า  บุคลากรวิชาชีพซึ่งทำหน้าที่หลักทางด้าน
การเรียนการสอนและส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่าง ๆ  ในสถานศึกษาของภาครัฐและเอกชน  และ
                มนตรี  จุฬาวัฒนาฑล  กล่าวว่า  ครู เป็นบุคลากรซึ่งทำหน้าที่หลักในด้านการเรียนการสอนและส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนในสถานศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรีหรือการศึกษาขั้นพื้นฐานปัจจุบันประเทศไทยมีครูประมาณ  6 แสนคน  คิดเป็นร้อยละ 1 ของประชากรซึ่งเป็นไปในสัดส่วนเดียวกันของโลกที่มีครูประมาณ  60  ล้านคน
                โดยหลัก  ๆ  ทั่วไปในความหมายของครูเป็นที่เข้าใจของคนไทยว่า เป็นครูโดยอาชีพ  มีอาชีพสอนและส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนทั้งในระบบและนอกระบบโรงเรียน  นอกจากนี้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  2542  หมวด  3  มาตรา 15 (3)  กำหนดให้มีการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยเป็นการศึกษาที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจ  ศักยภาพ  ความพร้อมและโอกาส  โดยศึกษาจากบุคคลประสบการณ์  สังคม  สภาพแวดล้อม สื่อหรือแหล่งความรู้อื่น  ๆ  เพราะฉะนั้น  ครู  ในบทบาทของการศึกษาตามอัธยาศัยย่อมแตกต่างออกไปจากครูในระบบและนอกระบบโรงเรียน  บทบาทความหมายของครูจึงแตกต่างตามการจัดการศึกษาในหลักสูตรต่าง ๆ  ทั้งระยะสั้นและระยะยาว  ทำให้เกิดประเภทของครูถึง  9 ประเภท  ดังต่อไปนี้
1.             ครูนักรบ
2.             ครูนักรัก
3.             ครูนักบอก
4.             ครูนักชี้
5.             ครูนักดนตรี
6.             ครูนักร้อง
7.             ครูเรือจ้าง
8.             ครูนายช่าง
9.             ครูแม่พิมพ์  
ดังแผนภูมิ



1.             ครูรบ  คือ  นักรบคอยต่อสู้ป้องกันและปราบปรามความชั่วร้ายให้แก่ลูกศิษย์  อันเกิดจากภายนอกและภายในตัวลูกศิษย์เอารวมทั้งความชั่วร้ายที่เกิดขึ้นในสังคม  ซึ่งเป็นภารกิจของครูจักต่อสู้ป้องกัน  กำจัดไปในฐานะที่เป็น นักรบของสังคม ซึ่งเป็นนักรบร่วมสมัย
2.             ครูนักรัก  คือ  คอยสร้างสรรค์และรักษาความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ลูกศิษย์  ด้วยความเมตตาและปรารถนาดีต่อลูกศิษย์สม่ำเสมอ  ช่วยพัฒนาครอบครัว  พัฒนาชุมชนและพัฒนาสังคมของลูกศิษย์ให้เจริญก้าวหน้าในฐานะเป็นนักรักของสังคมโดยไม่เลือกที่รักไม่ผลักที่ชัง
3.             ครูนักบอก คือ บกวิชา  บอกความรู้  บอกความงาม บอกความดีและบอกความจริงให้แก่ลูกศิษย์  โดยไม่ปิดปัง ครูเป็นเสาะแสวงหานำมาเปิดเผยแก่ลูกศิษย์ในฐานะที่เป็นผู้บอกขุมทรัพย์แก่ลูกศิษย์และสังคม
4.             ครูนักชี้ คือ คอยชี้ผิดชี้ถูกให้ลูกศิษย์และให้สังคม  ครูเป็นผู้ชี้ทางสร้างทิศ  นำชีวิตของลูกศิษย์และของสังคมไปสู่เป้าหมายคือความเจริญรุ่งเรือง  ก้าวหน้า มั่งคั่ง และมั่นคง  เพื่อให้ลูกศิษย์และสังคมเติบโตด้วยความกล้าหาญ ความพยายาม  ความคิดเรียนรู้ชีวิตและพึ่งตนเองได้
5.             ครูนักดนตรี  คือ  คอยเรียบเรียงเสียงประสานให้จังหวะให้ระดับ ประคับประคองชีวิตของลูกศิษย์ของสังคมให้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยและดีงามสม่ำเสมอไม่ผิดจังหวะไม่ผิดระดับ ไม่ผิดโน๊ต ไม่ผิดคีย์ชีวิตและไม่ผิดทำนอง  ครูเป็นนักดนตรี  คอยดีด  คอยตี  คอยเป่า  คอยเขย่า และคอยขยับ  ขับกล่อมบรรเลงเพลงชีวิตที่เต็มไปด้วยความสุขที่ถูกต้องตามทำนองธรรม
6.             ครูนักร้อง  คือ  ครูมีหน้าที่คอยสร้างความบันเทิงรื่นเริงใจให้แก่ลูกศิษย์และสังคม ผ่อนคลายอารมณ์ทั้งในยามทุกข์และยามสุข  ครูเป็นผู้คอยเรียบเรียงถ้อยร้อยกรอง คำปลอบประโลมลูกศิษย์  เมื่อยามชีวิตมีทุกข์  เมื่อยามลูกศิษย์มีสุขก็คอยบำรุงขวัญสร้างสรรค์พลังใจให้  ครูเป็นนักร้องปลุกลูกศิษย์ให้ตื่นตัว  ตื่นตา  และตื่นใจอยู่ตลอดเวลาให้ทันสมัยทันเหตุการณ์และทันโลกอยู่เสมอในฐานะที่เป็น  ผู้ปลุก  ปลุกทั้งตนเองและผู้อื่น
7.             ครูเรือจ้าง  คือ  เป็นเรือจ้างคอยรอรับและไปส่งลูกศิษย์สู่จุดหมายปลายทางที่ปรารถนาด้วยเรือ คือ ความรู้ ฝ่าคลื่นฝืนลมแรง ข้ามมหาสมุทร  ถึงจุดหมายปลายทางแล้วก็จอดเรือรอคอยที่ท่าน้ำ  เพื่อทำหน้าที่อย่างนี้อีกวันแล้ววันเล่าเดือนแล้วเดือนเล่าปีแล้วปีเล่า อย่างไม่เบื่อ ไม่บ่น อดทนอดกลั้น บากบั้น  ทำหน้าที่ของครูอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อยนี้แหละ ชีวิตครู
8.             ครูนายช่อง  คือ  เป็นผู้ทำงานช่างสร้างลูกศิษย์และสังคมด้วยช่างสิบหมู่ ดังนี้
8.1.       ช่างแกะ
8.2.       ช่างซัก
8.3.       ช่างสลัก
8.4.       ช่างกลึง
8.5.       ช่างปั้น
8.6.       ช่างรัด
8.7.       ช่างขัด
8.8.       ช่างตี
8.9.       ช่างสี
8.10.ช่างวาด
ครูจึงเป็นนายช่าง  คอยแกะ คอยซัก คอยสลัก คอยกลึง คอยปั้น คอยรัด คอยขัด  คอยตี คอยสี คอยวาด แต่งแต้มตกแต่งลูกศิษย์ให้เป็นคนมีคุณธรรม 5 ประการ คือ
1.             คุณสมบัติ
2.             คุณวุฒิ
3.             คุณธรรม
4.             คุณภาพ
5.             คุณประโยชน์
ครูเป็น สถาปนิกและวิศวกรของสังคม อย่างแท้จริง
9.             ครูแม่พิมพ์ คือ ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีของลูกศิษย์และของสังคมเพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณมีความรู้คู่คุณธรรมที่สมบูรณ์ด้วย วิชชาจรณสมบัติ
ครูจึงเป็นแม่พิมพ์ของชาติทำงานการพิมพ์ 3 ประเภท คือ
1.             พิมพ์ตน
2.             พิมพ์คน
3.             พิมพ์งาน
ในปัจจุบันรูปแบบการจัดการเรียนการสอนเปลี่ยนแปลงไปมาก  โดยเฉพาะรายวิชาต่าง ๆ ในหลักสูตรที่จุดประสงค์ของการจัดการศึกษา  เพื่อมุ่งให้ผู้เรียนนำผลสัมฤทธิ์ของการสอนไปใช้ในประสบการณ์ตรงที่เป็นไปตามความต้องการของสังคมเป็นปัจจัยหลักและความเป็นครู  ในอนาคตมีแนวโน้มเกี่ยวกับกลุ่มที่มีการกำหนดลักษณะของกลุ่มครูออกไปหลากหลายกลุ่มและแตกต่างกัน  สอดคล้องกับแนวความคิดของอาจารย์รุ่ง  แก้วแดง  ได้กล่าวไว้ว่า ครูในอนาคตมี 5 ประเภท คือ
1.                ครูโดยวัฒนธรรม  หมายถึง  ผู้สั่งสอนเยาวชนในรูปแบบของการศึกษาตามอัธยาศัย  ซึ่งมีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและจะมีต่อไปในอนาคต ได้แก่ พ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย พระภิกษุสงฆ์  รวมทั้งผู้ทรงปัญญาในท้องถิ่น เป็นต้น
2.                ครูโดยอาชีพ  หมายถึง  ผู้ประกอบอาชีพครู  ซึ่งสำเร็จการศึกษาสถาบันการผลิตครูหรือสถาบันอื่น ๆ ในอนาคตบุคคลที่จะเป็นครูได้ต้องมีใบประกอบวิชาชีพครูดังระบุในมาตรา 53  ของพระราชบัญญัติการศึกษา  2542  ความว่า
มาตรา 53  ให้มีองค์กรวิชาชีพครู ผู้บริหารสถานศึกษาและผู้บริหารการศึกษามีฐานะเป็นองค์กรอิสระภายใต้การบริหารของสภาวิชาชีพในกำกับกระทรวง  มีอำนาจหน้าที่กำหนดมาตรฐานวิชาชีพออกและเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพรวมทั้งการพัฒนาวิชาชีพครู ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหารการศึกษา  ให้ครู ผู้บริหารสถานศึกษาผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาอื่นทั้งของรัฐและเอกชนต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพตามที่กฎหมายกำหนด
การจัดให้มีองค์การวิชาชีพครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาอื่นมีคุณสมบัติหลักเกณฑ์และวิธีการในการออกและเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
ความในวรรคสองไม่ให้ใช้บังคับแก่บุคคลทางการศึกษาที่จัดการศึกษาตามอัธยาศัย สถานศึกษาตามมาตรา 18(3)   ผู้บริหารการศึกษาระดับเหนือเขตพื้นที่การศึกษาและวิทยาการพิเศษทางการศึกษา
ความในมาตรานี้ไม่ใช้บังคับแก่อาจารย์ ผู้บริหารสถานศึกษาและผู้บริหารการศึกษาในระดับอุดมศึกษาระดับปริญญาตรี
3.                ครูโดยธรรมชาติ  หมายถึง  ธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่ก่อให้เกิดประสบการณ์และการเรียนรู้แก่มนุษย์
4.                ครูโดยเทคโนโลยี  หมายถึง  เทคโนโลยีสารสนเทศที่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วหลากหลายและไร้พรมแดน  เทคโนโลยีจะมีบทบาทและมีความสำคัญในการเป็นเครือข่ายการเรียนรู้ด้วยตนเองของแต่ละบุคคลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
5.                ครูโดยตนเอง  หมายถึง  ผู้มีความใฝ่รู้ใฝ่เรียนสามารถสอนและแนะนำเตือนสติตนเองหรือการเรียนรู้ด้วยตนเองได้  อันเป็นจุดหมายสูงสุดของการศึกษา  ที่ทำให้ผู้เรียนมีนิสัยเรียนรู้ด้วยตนเองหรือเป็นครูของตนเอง  ซึ่งจะทำให้ผู้นั้นเกิดการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ดังแผนภูมิในอนาคตสรุปได้ดังนี้

(จากแผนภูมิอ้างในงานวิจัยของอาจารย์สมหวัง  พิชัยนุวัฒน์  เรื่องการ  ยกย่องครู ผู้มีผลงานดีเด่น , จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , 2542 )

                แผ่นภูมิที่ 1.1  ครูในอนาคต
                เพื่อให้ครูโดยอาชีพเป็น ครูมืออาชีพ ยังคงมีบทบาทและมีความสำคัญตามหลักการ คนย่อมโตกับคน ในการพัฒนาอบรมบ่มนิสัยให้ได้เยาวชนที่เป็นคนดีและคนเก่งครูโดยอาชีพจึงต้องทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการประสานเชื่อมโยงครูประเภทอื่น ๆ เพื่อให้ผู้เรียนมีโอกาสเรียนรู้จากครูโดยธรรมชาติ ครูโดยเทคโนโลยี ครูโดยวัฒนธรรมและครูโดยตนเองดังแผนภูมิ

ส่วนแผนภูมิที่  1.2  จะคล้ายกันเป็นการประสานเชื่อมโยงของครูประเภทต่าง  ๆ  ตามลำดับ  โดยมีครูอาชีพเป็นศูนย์กลาง
จากความหมายของครูและประเภทของครูพบว่า ยังมีกลุ่มคำหนึ่ง  ซึ่งบทบาทและภาระหน้าที่ไม่ต่างไปจากความเป็น ครู คือคำว่า อาจารย์ และ อุปัชฌาย์ ทิศาปาโมกข์แตกต่างกันที่ความหมาย
สำหรับคำว่า อุปัชฌาย์ จะไม่กล่าวถึงเลยคงไม่ได้ เพราะในประเทศไทยในอดีต นับแต่แผ่นดินสมัยกรุงสุโขทัยและล้านนาตอนบน ถึงแผ่นดินกรุงรัตนโกสินทร์การศึกษาเกิดขึ้นในวัด  ผู้ที่จะได้รับการเล่าเรียน โดยเฉพาะเด็กผู้ชายต้องผ่านการบวชเรียนก่อนถึงจะได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยอย่างครบครัน  เพราะฉะนั้นครูคนแรกของผู้ที่ทำการบวชเรียน คือ อุปัชฌาย์ นั่นเอง
อุปัชฌาย์  หมายถึง  อาจารย์ผู้ที่รับประกันผู้บวชใหม่ว่าจะประกันต่อสังคมสงฆ์ว่าจะดูแลบุคคลนี้ไม่ให้ทำผิด ให้เป็นสมาชิกคนหนึ่งของหมู่สงฆ์ 
จากหลักฐานทางเอกสารหนังสือในประเทศอินเดีย พบว่า คำว่าอุปัชฌาย์ หมายถึง ผู้สอนวิชาชีพและในหนังสือปรียทรรศิกาจะพบว่าคำบางคำที่เขียนอยู่ คือ คำว่า อุวัชยาอี เป็นภาษาปรากฤตพื้นบ้าน  หมายถึง อุปัชฌาย์สอนอาชีพ  เช่น สอนดีดพิณ เป็นต้น
ในคำตรวจน้ำโบราณของประเทศไทย  ก็สอนให้ทุกคนตรวจน้ำอุทิศให้แก่อุปัชฌาย์อาจารย์แม้เขาเป็นผู้หญิงชาวบ้าน เขาก็มีอุปัชฌาย์คือผู้ที่แนะนำสั่งสอนในเรื่องวิชาชีพให้รอดตัวได้นั่นเอง
คำที่มีความหมายคล้ายคลึงกับ ครู อีกคำหนึ่ง คือ               “ทิศาปาโมกข์ ในสมัยโบราณผู้ที่มีอันจะกินจะต้องส่งลูกหลานไปสู่สำนักทิศาปาโมกข์ เพื่อให้เรียนวิชาที่เป็นอาชีพหรือว่าสำหรับกลับมาประกอบหน้าที่การงานที่สำคัญ ๆ เกี่ยวกับการปกครองบ้านเมือง และทิศาปาโมกข์รับลูกศิษย์มาจากทั่วทิศจะกำหนดวิชาที่เรียนตามทิศ ทิศนี้สอนวิชานี้ เป็นต้น ผู้เรียนก็จะเลือกวิชาตามทิศที่ต้องการตามค่านิยมในสมัยนั้น  ซึ่งคล้ายกับสมัยปัจจุบันพอเรียนจบหลักสูตรประถม มัธยมศึกษาตอนต้น ตอนปลาย   ก็ไปเรียนต่อให้สูงขึ้นไปในระดับมหาวิทยาลัย  ที่ห่างไกลบ้านเกิดเมืองนอน  และไปเรียนต่อถึงต่างประเทศด้วยความเปลี่ยนแปลงของการศึกษาจึงไม่ค่อยพบคำคำนี้บ่อยนัก  ส่วนใหญ่จะปรากฏในหลักสูตรพระพุทธศาสนา
ส่วนคำว่า อาจารย์ เป็นคำที่เรียกกันในหมู่พระสงฆ์ในศาสนาพุทธเป็นตำแหน่งของพระอาวุโสที่มีหน้าที่เฉพาะในการควบคุมดูแลหรือสั่งสอนพระที่บวชใหม่
ธีรศักดิ์   อัครบวร  อ้างในพระธรรมปิกฎ ( ป.อ.ปยุตโต  2538 : 203 )   อาจารย์ หมายถึง  ผู้ประพฤติการอันเกื้อกูลแก่ศิษย์ ผู้ที่ศิษย์พึงประพฤติด้วยความเอื้อเฟื้อผู้สั่งสอนวิชาและอบรมดูแลความประพฤติในพระสงฆ์มี  4  ตำแหน่ง คือ
1.             บรรพชาจารย์  คือ อาจารย์ผู้ให้สิกขาบทในการบรรพชา
2.             อุปสัมปทาจารย์  คือ อาจารย์ผู้สวดกรรมวาจาในอุปสมบทกรรม
3.             นิสสยาจารย์  คือ  ผู้ที่ตนไปขอยอมตนเป็นศิษย์ในการปกครอง
4.             อุเทศาจารย์หรือธรรมาจารย์  คือ  อาจารย์ผู้สอนธรรมเป็นผู้ให้วิชาความรู้เป็นที่ปรึกษาไต่ถามค้นคว้า
ต่อมาคำว่า  อาจารย์ได้แพร่หลายเข้าสู่วงการการศึกษา  โดยการใช้เรียกข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย  ผู้ทำหน้าที่เป็นผู้สอนหรือผู้บรรยาย ( Lecturer )  วิชาการต่าง ๆ ให้แก่นิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย และขยายต่อไปยังวิทยาลัยและโรงเรียนต่าง ๆ เมื่อช่วงเวลาไม่กี่ปีนี้
อาจารย์ มีรากศัพท์มาจากภาษาบาลี อาจารย์  ภาษาสันสกฤตว่า อาจริย  ในภาษาอังกฤษ คือ “ Tratruetor ” 
อาจารย์ คือ ผู้สั่งสอนวิชาความรู้
คณาจารย์ คือ บุคลากรซึ่งทำหน้าที่หลักทางด้านการเรียนการสอนและการส่งเสริมการเรียนรู้ผู้เรียนด้วยวิธีการต่าง ๆ ในสถานศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน

ความสำคัญของครู
                ครูเป็นบุคคลที่มีความสำคัญและมีบทบาทมากที่สุดในการจัดการศึกษาการปฏิรูปการศึกษาจะสำเร็จได้ต้องอาศัยการปฏิรูปครูเป็นสำคัญ
                ความสำคัญของครูปรากฏในพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ดังได้อัญเชิญมา ณ ที่นี้
                หน้าที่ครูมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นหน้าที่ที่ปลูกฝังความรู้ ความคิดและจิตใจของเยาวชนผู้เป็นครูจึงจัดได้ว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญมากในการสร้างสรรค์บันดาลอนาคตของชาติบ้านเมือง.....
                พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช 22 ตุลาคม 2513

สุจริต  เพียรชอบ ( 2537 )  ได้กล่าวถึงบทบาทที่สำคัญยิ่งของครูในการพัฒนาประเทศ  ซึ่งสามารถสรุปได้  12  ประการ  คือ
1.                พัฒนาผู้เรียนให้เป็นผู้มีระดับสติปัญญาสูงขึ้น  มีความรู้ในสรรพวิทยาการต่าง ๆ โดยที่ควรมีบทบาทในการกระตุ้นและอำนวยการในการเรียนมากกว่าเป็นผู้บอกความรู้
2.                จัดสร้างสถานการณ์เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกคิด  มีเหตุมีผลและรู้จักใช้วิจารณญาณจนเป็นกิจนิสัย
3.                ปลูกฝังลักษณะนิสัยที่สำคัญ  เช่น  การมีวินัยในตนเอง   การตรงต่อเวลา  ความขยันหมั่นเพียร  มานะอดทน  ซื่อสัตย์สุจริต การทำงานหนัก  ความรักและมุ่งมั่นในงาน  ซึ่งครูควรเป็นตัวอย่างของการแสดงลักษณะนิสัยที่ดีเหล่านี้
4.                การปลูกฝังค่านิยมและมโนทัศน์ที่ถูกต้องให้กับนักเรียน เช่น การนิยมความดีมากกว่าการนิยมวัตถุ  การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนร่วมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว
5.                การปลูกฝังความเป็นนักประชาธิปไตยให้แก่นักเรียน ซึ่งสำคัญยิ่งต่อประเทศไทยที่มีการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
6.                การบริหารวิชาการแก่ประชาชนในท้องถิ่น  เป็นบทบาทที่สำคัญประการหนึ่งของครูโดยเฉพาะในเรื่องการพัฒนาอาชีพ และความเป็นอยู่ของประชาชน
7.                การปลูกฝังทักษะและเจตคติด้านอาชีพให้แก่นักเรียน ทั้งในด้านความรู้ความเข้าใจ และการลงมือปฏิบัติจริง
8.                การปลูกฝังวัฒนธรรมอันดีงามของไทย  เพื่อให้นักเรียนได้ซึมซับและสืบสานวัฒนธรรมอันดีงามของไทยสืบต่อไป
9.                บทบาทในการพัฒนาสังคม  เมื่อครูเข้าไปเกี่ยวข้องกับชุมชนใดก็ต้องพยายามหาแนวทางที่จะพัฒนาชุมชนนั้น ๆ ให้ดีขึ้นด้วย
10.         บทบาทในการแก้ปัญหาชุมชน  ครูควรมีบทบาทในการแก้ไขปรับปรุงสังคมให้ดีขึ้น  ครูควรทำตัวเป็นตัวกลางติดต่อกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้มาดำเนินการช่วยเหลือ  อีกทั้งกระตุ้นให้ชุมชนได้พยายามรวมพลังแก้ไขปรับปรุงชุมชมของตนเองด้วย
11.         การให้ความรู้เกี่ยวกับการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ให้เป็นประโยชน์  ตลอดจนการสงวนทรัพยากรธรรมชาติ  ครูมีบทบาทในการให้ความรู้แก่นักเรียน  ตลอดจนประชาชนในการใช้และสงวนทรัพยากรธรรมชาติ  อันเป็นสมบัติล้ำค่าของประเทศ
12.         บทบาทของครูในการธำรงความมั่นคงของประเทศ ครูควรหาโอกาสสนทนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง  ทั้งนี้เป็นการพัฒนาคนและเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศด้วย
ตามบทบาทและหน้าที่ของ ครู นั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก  เพราะโดยเนื้อแท้แล้วครูเป็นผู้สร้างและยกระดับอนาคตเยาวชนของชาติ  ครูจึงเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งความดีงามความงดงามแห่งปัญญาที่เป็นความหวัง เป็นพลังของชาติ  มีบทบาทของการสร้างที่ยิ่งใหญ่  สร้างคนดี สร้างคนเก่งและคนกล้าให้เกิดขึ้นในแผ่นดิน  ดังบทกลอนของเนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์กล่าวไว้ดังนี้
                ครูคือผู้ยกระดับวิญญาณมนุษย์
                ให้สูงสุดกว่าสัตว์เดรัจฉาน
                ครูคือผู้สั่งสมอุดมการณ์
                มีดวงมานเพื่อมวลชนใช่ตนเอง
                                ครูจึงเป็นนักสร้างผู้ยิ่งใหญ่
                                สร้างคนจริงสร้างคนกล้าสร้างคนเก่ง
                                สร้างคนให้ได้เป็นตัวของตัวเอง
                                ขอมอบเพลงนี้มาบูชาครู
สรุป
                ครูไม่ได้เป็นแต่ผู้สั่งสอนศิษย์แต่เพียงอย่างเดียวครุยังต้องทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองและอบรมเพื่อแก้ไขสิ่งที่ยังบกพร่องในตัวเด็กในหน้าที่ของความเป็นครูจึงเป็นหน้าที่ที่สำคัญและยิ่งใหญ่ในการที่จะสร้างพลเมืองของชาติให้ยิ่งใหญ่โดยฝึกอบรมสอนสั่งให้เด็กผู้ที่กำลังจะเป็นพลเมืองสำคัญของชาติให้รู้จักตนเองรู้จักหน้าที่มีความรับผดชอบในการที่จะทำงานเพื่อชาติและช่วยพัฒนาประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป บ้านเมืองจะเจริญขึ้นหรือเสื่อมลงก็อยู่ที่พลเมืองในชาติ ถ้าหากครูได้ทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มความสามารถดีที่สุดเด็กๆก็จะดีตามไปด้วยชาติบ้านเมืองก็จะมั่นคงจึงเปรียบเสมือนทหารเอกของชาติที่ทำหน้าที่ป้องกันความเสื่อมทางการศึกษาของชาตินั่นเอง.

……………………………..

No comments:

Post a Comment