Wednesday 3 July 2013

พื้นฐานของครู



ความนำ
พื้นฐานของครู

                “ปาเจรา  จริยา  โหนติ  คุณุตตรา  นุสา  สกา

บทสวดนำของพิธีการสำคัญเพื่อแสดงถึงความเคารพครูอาจารย์ในฐานะ ศิษย์ที่มีครู ที่ทรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์และแสดงถึงความกตัญญู ความมีสัมมาคารวะแด่ครูบาอาจารย์อย่างจริงใจ และตามด้วยบทสวดทำนองสรภัญญะ เพื่อแสดงถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนเพื่อบูชาครูไว้เหนือศีรษะผู้ซึ่งประสิทธ์ประสาทสรรพวิชาต่างๆ ที่เติมเต็มความเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์คือ

     ข้าขอประณตน้อมสักการ           บูรพคณาจารย์ผู้ก่อประโยชน์ศึกษา
ทั้งท่านผู้ประสาทวิชา                  อบรมจริยาแก่ข้าในการปัจจุบัน
ข้าขอเคารพอภิวันท์                   ระลึกคุณอนันต์ด้วยใจนิยมบูชา
ขอเดชกตเวทิตา                     อีกวิริยะพาปัญญาให้เกิดแตกฉาน
ศึกษาสำเร็จทุกประการ                 อายุยืนนานอยู่ในศีลธรรมอันดี
ให้ได้เป็นเกียรติเป็นศรี                 ประโยชน์ทวีแก่ข้าและประเทศไทยเทอญฯ

              “ปัญญา  วุฒิกาเร เต เต ทินโนวาเทนะมามิหัง

              จากบทสวดนี้แสดงถึงความเคารพนบน้อมของ ศิษย์  ที่พึงแสดงต่อ ครู เป็นการแสดงความเคารพในความเป็นผู้รู้และความเป็นผู้ที่มีคุณภาพ  กอปรด้วยเมตตาธรรมต่อ ศิษย์  ปรารถนาที่จะให้ศิษย์เดินทางบรรลุถึงความสำเร็จขั้นสูงสุดตามอัตภาพและตามประเพณีไทยโบราณ  ให้ถือเอาฤกษ์วันพฤหัสบดีที่  2  ของเดือนมิถุนายนของทุกปีเป็นวันไหว้ครู  และวันพฤหัสบดีนั้นเป็นราศีแห่งวิชาการ  สิ่งที่เป็นสัญลักษณ์  เพื่อแสดงถึงความเคารพต่อ ครู  มี  4  สิ่ง  คือ 
                -   ดอกมะเขือ     เป็นสัญลักษณ์ของความนอบน้อมถ่อมตน
                -   หญ้าแพรก     เป็นสัญลักษณ์ของความอดทน
                -   ข้าวตอก      เป็นสัญลักษณ์ของความมีระเบียบวินัย
               -   ดอกเข็ม      เป็นสัญลักษณ์ของสติปัญญาที่มีความแหลมคมประดุจเข็มที่มีความแหลมคมอยู่ในตัว
              สาระเบื้องต้นเป็นเรื่องของการแสดงความกตัญญูต่อ ครู  อันเป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่เจริญ  แล้วทั้งสรรพวิชาทางคุณธรรมและจริยธรรม  ทำให้มองเห็นถึงบทบาทสำคัญยิ่งของผู้ที่ทำหน้าสร้างคน, ปั้นคน, พิมพ์คน  ให้เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ  และ ครู  ยังได้รับการยกย่องว่าเป็น แม่พิมพ์ของชาติ  เป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วย  วิชชาจรณสมบัติ  อย่างแท้จริง
             ตามหลักของความเป็นครู  ครู  และวิชาชีพครู  สิ่งหนึ่งที่มองเห็น  คือ  สังคมยกย่องว่าเป็นผู้รู้  เป็นนักปราชญ์  เป็นผู้ทรงศีล  เป็นแบบอย่างที่ดี  เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้อบรมสั่งสอนเด็ก ๆ  โดยไม่เลือกชนชั้นและวรรณะ  เพื่อที่จะให้เป็นคนดีของสังคม   สิ่งที่ยึดเหนี่ยวให้ ครู  ดำรงวิชาชีพอย่างภูมิใจและหนักแน่น  คือ  คุณธรรมสำหรับครูนั่นเอง
             คุณธรรมหลักใหญ่ที่ส่งเสริมให้ ครู  ประสบผลดีในการสอน  คือ  ความเสียสละ  ความมีเมตตาต่อศิษย์อย่างเท่าเทียมกัน  ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี  มีน้ำใจงดงาม  ประพฤติดีปฏิบัติชอบ  มีจรรยามารยาท  ประพฤติเหมาะสมกับกาลเทศะ  แสดงเป็นผู้ที่มีคุณธรรมเป็นพื้นฐานเบื้องต้น  และอาชีพครู นั้นไม่มีวันหยุดทำการสอน  ผู้ที่เป็น ครู โดยวิญญาณนั้นจะมีตัวใจเพื่อที่จะถ่ายทอดสรรพวิชาต่าง  ๆ  โดยไม่เลือกวันเวลาและกลุ่มเป้าหมาย  โดยมีหลักคุณธรรมเป็นกรอบพื้นฐานเบื้องต้น  ในหัวใจของความเป็น ครู  หลักคุณธรรม
             ในปัจจุบันสังคมมีความคาดหวังและเรียกร้องกับคำว่า คุณธรรม  สำหรับภาคปฏิบัติในงานอาชีพต่าง ๆ  โดยเฉพาะผู้ที่ประกอบอาชีพการงานเกี่ยวข้องกับการบริหารงาน,  ด้านงบประมาณ ,วัสดุ สื่อต่าง  ๆ  และการบริหารคน ตั้งแต่ระดับประเทศจนถึงรากหญ้า   ที่เรียกร้องจะต้องมีคุณธรรมนั้น  เข้าใจถึงคุณธรรมกันในระดับไหน  ความมีคุณธรรมในแต่ละบุคคลนั้นจะต้องเป็นสิ่งที่สะท้อนออกมาจากภายในตัวตนของบุคคล  ออกมาจากสภาวะแห่ง จิต”  ที่บริสุทธิ์หนักแน่น ซื่อตรงและมั่นคง  ไม่ใช่สิ่งที่จะมาปั้นแต่งเพียงฉาบฉวยภายนอกเท่านั้น
              คำว่า คุณธรรม  สามารถแยกออกเป็นคำ  2  คำประสมกัน  คือ  คุณ +  ธรรม  เท่ากับคุณธรรมและเป็นคำสมาส
               ท่านพุทธทาสได้ให้ความหมายของ คุณ  กับ ธรรม  ไว้อย่างชัดเจนคือ
               คำว่า คุณ  คำเดียวโดด ๆ  หมายถึง  ค่าที่มีอยู่ในแต่ละสิ่ง ๆ ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือเป็นไปได้ทั้งทางดีและทางร้าย  คือ  การทำจิตให้ยินดีเรียกว่า คุณ ทำจิตให้ยินร้ายซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของมัน  ผู้ที่มีจิตหลุดพ้นแล้วจะอยู่เหนือความหมายของคำที่ว่านี้  คือ จะไม่ยึดถือสิ่งใดโดยความเป็นอะไร  เรียกว่าอยู่เหนือสิ่งที่เรียกว่า คุณ
               ส่วนคำว่า ธรรม  หมายถึง ธรรมะหรือธรรมสำหรับผู้ที่เจริญแล้วพึงปฏิบัติยึดถือเป็นหลักชัยและแก่นแท้ของชีวิต
              คุณธรรมจึงหมายถึง คุณสมบัติฝ่ายดีโดยส่วนเดียว เป็นที่ตั้งหรือเป็นประโยชน์แก่สันติภาพหรือสันติสุขของมนุษย์
                คุณธรรม หมายถึง สภาพคุณงามความดี
                คุณธรรม  หมายถึง  ลักษณะที่ดีงามหรือพฤติกรรมที่ปฏิบัติจนเป็นนิสัยและการที่บุคคลได้กระทำตามความคิดและมาตรฐานของสังคมในทางความประพฤติและจริยธรรม
                คุณธรรม หมายถึง ระบบแนวความคิดเกี่ยวข้องกับความประพฤติที่ดี
                โดยสรุปแล้ว คุณธรรม คือ ความดีอันสูงสุดปลูกฝังอยู่ในนิสัยอันดีงามอยู่ในภาวะจิตสำนึก  ในความรู้สึกรับผิดชอบชั่วดีเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งควบคุมพฤติกรรมที่แสดงออกสนองความต้องการของสังคม


คุณธรรมของครู
            พระธรรมโกศาจารย์  กล่าวไว้ว่า  คุณธรรมของครูไม่ต่างจากพระคุณ 3 ประการ  ของพระบรมครู  คือ ปัญญาคุณ  วิสุทธิคุณ  และกรุณาธิคุณ  และเหตุผลสำคัญที่ครูต้องมีคุณธรรมทั้ง 3 ประการ คือ

            1.ครูต้องมีปัญญา รู้ว่าอะไรคือ สิ่งที่ดี เพื่อครูจะได้ทำให้ถูกดี ถึงดี และพอดี
           2.ครูต้องมีวิสุทธิคือ ความบริสุทธิ์ใจในวิชาชีพครูสอนเด็กเพื่อประโยชน์ของเด็กนักเรียนเป็นที่ตั้งงานของครูเป็นอาชีพที่ไม่ใช่ธุรกิจ  เพราะอาชีพครูคือการถ่ายทอดความรู้และความชำนาญพิเศษแก่ศิษย์  อาชีพครูไม่ใช่งานธุรกิจเป็นงานที่ให้บริการทางปัญญาแก่สังคม   ครูจึงต้องมีคุณธรรม  โดยมีความบริสุทธิ์ใจ  ในหน้าที่ของตนจึงจะรักษาสถานะของปูชนียบุคคลไว้ได้  เมื่อใดครูสอนศิษย์เพราะเห็นแก่เงินอย่างเดียว  เมื่อนั้นครูจะมีสถานะเป็นลูกจ้างของศิษย์เท่านั้นไม่ใช่ ปูชนียบุคคล
            3.ครูต้องมีกรุณา  คือ  มีความเห็นอกเห็นใจใครจะช่วยเหลือศิษย์ที่กำลังอยู่ในที่มืดให้พบแสงสว่างแห่งปัญญา  เป็นผู้จุดประทีปในความมืด (ชี้ทางแห่งความเป็นจริง)  มีความรักใคร่กรุณาต่อศิษย์แม้บางครั้งต้องลงโทษศิษย์บ้างก็ทำด้วยความรักและความหวังดี
คุณธรรม 3 ประการนี้  เมื่อประพฤติปฏิบัติจักได้ชื่อว่า  เป็นผู้ที่มีวิญญาณของครูโดยสมบูรณ์  และเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับครูและผู้ที่จะเป็นครูอาชีพ  เพราะครูเป็นผู้ที่ได้รับการพัฒนาทั้งสติปัญญาและคุณธรรม  ความประพฤติที่เป็นแบบอย่างของสังคม
ตามหลักของพระพุทธศาสนา  พระพุทธองค์ได้ทรงกำหนดหลักธรรมซึ่งเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาไว้  3 ประการ  เหมาะที่จะเป็นหลักธรรมในการดำเนินชีวิต  ในทุกสาขาอาชีพนอกเหนือจากอาชีพครู  คือ
            1.การไม่กระทำความชั่วทุกอย่าง
            2.การกระทำความดีให้สมบูรณ์
            3.การทำจิตใจของตนให้ผ่องใส
หลักคุณธรรมสำหรับครู  ที่แท้จริงแล้วอยู่ที่ตัวครูในการปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีเป็นตัวอย่างแก่ศิษย์  ยึดมั่นตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาขั้นพื้นฐาน  คือ เบญจศีลและเบญจธรรมหรือกัลยาณธรรม  ที่จะเติมเต็มความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์  เมื่อมีหลักธรรมแล้วไม่ประพฤติปฏิบัติทางหลักธรรมอย่างแท้จริง  แล้วก็ถือว่าไม่เข้าถึงในธรรมและไม่เข้าถึงงาน ครู  นอกจากนั้นยังมีหลักธรรมอีกหลายประการซึ่งจะได้กล่าวต่อไปในเนื้อหาที่ตรงกับหลักธรรมนั้น ๆ  ของบทต่อไป


No comments:

Post a Comment