Wednesday 3 July 2013

บทที่ 2 หลักคุณธรรมและจริยธรรมสำหรับครู



บทที่ 2
หลักคุณธรรมและจริยธรรมสำหรับครู

หลักคุณธรรมของครู
คุณธรรมของครู ซึ่งได้กล่าวไว้แล้ว ในบทนำพื้นฐานของครูพอสังเขป  ในบทที่  2  นี้จะกล่าวถึงหลักธรรมที่เป็นหลักธรรมนำสู่การปฏิบัติของวิชาชีพครู  เพราะคุณธรรมกับความเป็นครูเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออกเป็นการนำเอาหลักธรรมที่สำคัญของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อนำปฏิบัติในสายกลางที่เรียกว่า  มัชฌิมาปฏิปทา และฝึกฝนจิตใจให้หนักแน่นประพฤติปฏิบัติในทางที่ถูกที่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม  หลักธรรมสำคัญที่ครูอาชีพสมควรถือปฏิบัติ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองในวิชาชีพครูประกอบด้วยหลักธรรมสำคัญ 6 ประการ คือ
1.             อริยมรรค 8
2.             พรหมวิหาร  4
3.             ฆราวาสธรรม
4.             สังคหวัตถุ  4
5.             อิทธิบาท  4
6.             เบญจศีล / ศีล  5

หลักธรรมสำหรับครู  ที่ 1
1.             อริยมรรค มีองค์  8  ประการ  ซึ่งถือได้ว่าเป็นธรรมขั้นสูงในศาสนาพุทธ  ได้แก่
1.1.  สัมมาทิฐิ  การเห็นชอบ  หมายถึง  การเห็นชอบตามทำนองคลองธรรมเป็นแสงสว่างส่องทางให้พ้นทุกข์  ครูทั้งหลายหากมีสัมมาทิฐิและถือปฏิบัติที่ดี ย่อมเป็นครูที่มีความเป็นครู
1.2.  สัมมาสังกัปปะ  การดำริชอบ  หมายถึง การคิดอย่างฉลาด  รอบคอบ รู้จักไตร่ตรอง เป็นผู้มีวิธีคิด รู้จักใช้ความคิดในทางที่ถูกต้องดีงาม  คิดในทางสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเอง ต่อศิษย์และต่อสังคม
1.3.  สัมมาวาจา  การพูดจาชอบ  หมายถึง  การไม่พูดจาส่อเสียด  ไม่เพ้อเจ้อ  ไม่พูดหยาบและไม่พูดปด พูดเท็จ  วิธีพูดของครูมีผลต่อความรู้สึกและจิตใจของศิษย์เสมอ  หากครูพูดด้วยความจริงใจอ่อนโยน ไพเราะย่อมทำให้ศิษย์มีความเคารพและรักนับถือ
1.4.  สัมมากัมมันตะ  การทำการงานชอบ  หมายถึง  การทำกิจการต่าง ๆ ด้วยความเต็มใจและตั้งใจอย่างเต็มความสามารถ  เพื่อให้เกิดผลดีต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง
1.5.  สัมมาอาชีวะ  การเลี้ยงชีพชอบ  หมายถึง  การทำอาชีพสุจริตและไม่ผิดกฎหมายทั้งหลาย
1.6.  สัมมาวายามะ  การเพียรชอบ  หมายถึง  การมุ่งมั่นพยายามในทางดี  ครูต้องมีความเพียร  คือ พยายามศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ  มีมานะพยายามสร้างความก้าวหน้าในชีวิตและหน้าที่การงานตามทำนองคลองธรรม
1.7.  สัมมาสติ  การระลึกชอบ  หมายถึง  การพิจารณาไตร่ตรองในทางที่ถูก ทั้งมีสติปัญญาเฉียบแหลมรอบคอบในการผจญปัญหาต่าง  ๆ
1.8.  สัมมาสมาธิ  ความตั้งใจมั่นชอบ  หมายถึง  การตั้งอยู่ในความสงบ ไม่ปล่อยให้กิเลสทั้งหลายเกิดขึ้นจนหลงผิด  หากผู้เป็นครูมีความตั้งใจมั่นชอบย่อมเป็นผู้ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพครู
                อริยมรรคสามารถสรุปได้เป็น  3  กลุ่ม คือ
                กลุ่มที่  1  ได้แก่ สัมมาทิฏฐิกับสัมมาสังกัปปะ เป็นเรื่องของปัญญาหรือความสว่าง  กล่าวคือ ผู้มีปัญญาย่อมรู้และคิดในทางที่ถูกที่ดี
                กลุ่มที่  2  ได้แก่  สัมมาวาจา  สัมมากัมมันตะและสัมมาอาชีวะ  เป็นกลุ่มธรรมที่เกี่ยวกับการรักษาศีลหรือความสะอาด  ผู้มีธรรมเหล่านี้ย่อมไม่เกิดความสับสน วุ่นวาย ทะเลาะเบาะแว้งแข่งขันชิงดีชิงเด่น  และ
                กลุ่มที่  3   ได้แก่  สัมมาวายามะ  สัมมาสติและสัมมาสมาธิเป็นธรรมที่เกี่ยวกับสมาธิหรือความสงบ

หลักธรรมสำหรับครู  ที่ 2
2.              หลักธรรมพรหมวิหาร  4
พรหมวิหาร 4 เป็นหลักธรรมที่ค้ำจุนโลก  ครูต้องมีหลักธรรมนี้ประจำใจอันประเสริฐ  เพื่อเป็นหลักประพฤติปฏิบัติตนที่ดีงาม ได้แก่
2.1.  เมตตา  คือ  ความรักใคร่  ปรารถนาดี อยากให้ผู้อื่นมีความสุข  มีจิตใจที่ดีงาม  ผู้ที่เป็นครูอาจารย์จะต้องมีหลักธรรมเมตตาเป็นที่ตั้ง
2.2.  กรุณา  คือ  ความเอ็นดูสงสารศิษย์ พึงช่วยเหลือให้พ้นจากความทุกข์และความไม่รู้
2.3.  มุทิตา  คือ  ความชื่นชมยินดี เมื่อศิษย์ได้ดีและยกย่องเชิดชูให้ปรากฏ  อันเป็นการให้กำลังใจและช่วยให้เกิดความภูมิใจในตนเอง
2.4.  อุเบกขา  คือ  การวางตัววางใจเป็นกลาง  อันจะให้ดำรงอยู่ในธรรมตามที่พิจารณาเห็นด้วยปัญญา มีจิตเรียบตรงเที่ยงธรรมดุจตราชั่ง ไม่เอนเอียงด้วยรักหรือชังพร้อมที่จะวินิจฉัยและปฏิบัติไปตามธรรม  พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ เกื้อกูลเมื่อผู้อื่นเดือดร้อนเป็นทุกข์

หลักธรรมสำหรับครู  ที่ 3
3.              หลักธรรมฆราวาสธรรม  4
ฆราวาสธรรม 4 เป็นหลักธรรมที่ให้แนวคิดเกี่ยวกับการครองเรือนและหลักการครองชีวิตของคฤหัสถ์มี 4 ประการ คือ
3.1.          สัจจะ  คือ  ความจริง ความซื่อตรง  ซื่อสัตย์และจริงใจ ได้แก่ สัจจะต่อตนเอง  ต่อผู้อื่น  ต่อหน้าที่การงานและต่อประเทศชาติ
3.2.          ทมะ  คือ  การฝึกฝน  การข่มใจ  ฝึกนิสัย  รู้จักควบคุมจิตใจ  แก้ไขข้อบกพร่องและปรับปรุงตัวให้เจริญก้าวหน้าด้วยสติปัญญา
3.3.          ขันติ  คือ  ความอดทน ตั้งหน้าทำหน้าที่การงานด้วยความขยันมั่นเพียร  เข้มแข็ง  ตั้งมั่นในจุดประสงค์ไม่ท้อถอย
3.4.          จาคะ  คือ การเสียสละ การเป็นผู้ให้ การให้รู้จักละกิเลสมีใจกว้างพร้อมที่จะรับฟังความทุกข์  ความคิดเห็นแสดงความต้องการของผู้อื่น  พร้อมที่จะร่วมมือ  ช่วยเหลือเอื้อเฟื่อเผื่อแผ่ผู้อื่น

หลักธรรมสำหรับครู  ที่ 4
4.              หลักธรรม สังคหวัตถุ  4
สังคหวัตถุ 4  เป็นหลักธรรมที่ให้แนวคิดเกี่ยวกับการยึดเหนี่ยวจิตใจบุคคลและการประสานความสามัคคีในกลุ่มคนประกอบด้วย
4.1.          ทาน  หมายถึง  การให้ผู้เป็นครูอาจารย์จะต้องให้คำแนะนำสั่งสอน  ให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ 
4.2.    ปิยวาจา  หมายถึง  การพูดจาด้วยน้ำใสใจจริงมีความหวังดี  มุ่งให้เป็นประโยชน์และเกิดผลดีทำให้เกิดความเชื่อถือและความเคารพนับถือ
4.3.    อัตถจริยา  หมายถึง  การประพฤติอันเป็นประโยชน์  การขวนขวายช่วยเหลือกิจการสาธารณประโยชน์  ตลอดจนช่วยแก้ไขปรับปรุงส่งเสริมในทางจริยธรรมแก่ผู้อื่น
4.4.    สมานัตตตา  หมายถึง  การทำตนให้เสมอต้นเสมอปลาย  ตลอดจนการวางตัวให้เหมาะแก่ฐานะ  ภาวะ บุคคล เหตุการณ์และสิ่งแวดล้อม

หลักธรรมสำหรับครู  ที่ 5
5.              หลักธรรม อิทธิบาท  4
อิทธิบาท 4 เป็นหลักธรรมที่ทำให้ทำงานประสบความสำเร็จ  ประกอบด้วย
5.1              ฉันทะ  คือ  ความพึงพอใจ  ความต้องการที่จะทำ  ใฝ่ใจรักในสิ่งนั้นอยู่เสมอ  และปรารถนาทำให้ได้ผลดีขึ้นไป
5.2              วิริยะ  คือ  ความเพียร ขยันหมั่นเพียรประกอบสิ่งนั้น ๆ ด้วยความพยายามเข้มแข็งอดทน
5.3              จิตตะ  คือ  ความคิดตั้งจิตรับรู้ในสิ่งที่ทำและทำสิ่งนั้นด้วยความคิด  เอาจิตฝักใฝ่ ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านจากสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ
5.4              วิมังสา  คือ  ความไตร่ตรอง  หมั่นใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญตรวจตราหาเหตุผลและมีการวางแผนปรับปรุงงานอยู่เสมอ
เป็นหลักธรรมเบื้องต้น 5 ประการตามแนวทางของพระพุทธศาสนา  ผู้ที่ประพฤติดีปฏิบัติชอบตามหลักธรรมแห่งพระพุทธศาสนานี้แล้ว  จะบังเกิดผลดีต่อการปฏิบัติงานร่วมกับผู้อื่น  รวมถึงสามารถถ่อยทอดการสอนต่อผู้เรียนและนักเรียนได้เป็นอย่างดี  จะเป็นผู้ถ่อยทอดและผู้ให้ด้วยดวงใจอันบริสุทธิ์สงบและหวังดีโดยไม่เลือกชนชั้นวรรณะ

หลักธรรมสำหรับครู  ที่ 6
6.              หลักธรรมเบญจศีลหรือศีล 5
เบญจศีลหรือศีล 5 เป็นข้อปฏิบัติในชีวิตประจำวันสำหรับผู้มีอาชีพครูและบุคคลทั่วไป  ศีล 5 เป็นข้อปฏิบัติเพื่อรักษา  กายและวาจาให้เป็นปกติเรียบร้อยดีงาม  เบญจศีลหรือศีล 5 เป็นหลักปฏิบัติพื้นฐานมี 5 ข้อ คือ
6.1              ปาณาติปาตา เวรมณี  คือ งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
6.2              อทินนาทานา  เวรมณี  คือ งดเว้นจากการถือเอาสิ่งที่เจ้าของเข้าไม่ให้มาเป็นของตัวเอง
6.3              กาเมสุมิฉาจารา  เวรมณี  คือ งดเว้นจากการประพฤติผิดคู่ครองและของรักคนอื่น  ผู้ทีอาชีพครูและผู้เป็นครูพึงระมัดระวังไม่ควรผิดลูกผิดเมียผู้อื่น  ควรประพฤติเป็นแบบอย่างที่ดีสมกับความเป็นครู
6.4              มุสาวาทา  เวรมณี  คือ งดเว้นจากการพูดเท็จ  ไม่พูดโกหกหลอกลวงหรือพูดส่อเสียดที่ขัดแย้งกับความเป็นครู
6.5              สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา  เวรมณี  คือ งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา  คือ สุราเมรัยอันเป็นต้นแห่งความประมาทและเว้นจากสิ่งเสพติดและสิ่งมีโทษทุกอย่าง 
( ที.ปา. 11/286/274, องฺ . ปญฺจก . 22/127/227 )
                เบญจศีลหรือศีล 5 เป็นข้อปฏิบัติของความประพฤติชอบทางกายและวาจาและวินัย  ละเว้นจากความชั่ว ควบคุมกิริยาวาจาให้เรียบร้อยอยู่เป็นนิตย์  ไม่เบียบเบียนเอาเปรียบผู้อื่น  จึงเป็นหลักธรรมพื้นฐานที่ครูต้องประพฤติปฏิบัติเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์และสังคม  เมื่อมีหลักธรรมเบื้องต้นแล้วครูจะต้องพร้อมที่จะพัฒนาตนเอง  สู่การพัฒนาหลักธรรมและคุณธรรมอยู่เนือง ๆ  เพื่อที่ภาวะแห่งจิตจะได้ไม่เกิดความหลงทางในอบายของสังคมสมัยใหม่

การพัฒนาคุณธรรมของครู
                คุณธรรมเป็นเรื่องของอุปนิสัยอันดีและงดงามที่สะสมอยู่ในจิตใจ  ซึ่งได้มาจากความเพียรที่จะประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้อง  ดีงาม  ติดต่อกันมาเป็นเวลานานคุณธรรมจะมีความสัมพันธ์กับหน้าที่  เพราะกระทำจนเป็นนิสัย
การพัฒนาคุณธรรมของครู  ควรเริ่มต้นที่
1.             พัฒนาคุณธรรมทางสติปัญญา  สติปัญญาเป็นสิ่งสำคัญควรฝึกฝนศึกษาความรู้ใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา  รวมถึงแนวทางในการปฏิบัติที่ส่งผลต่อความมีเหตุผลในการปฏิบัติหน้าที่
2.             พัฒนาคุณธรรมทางศีลธรรม  คือ  เป็นผู้ที่มีจิตสำนึกในสิ่งที่ดีงามและเหตุผล  คุณธรรมทางศีลธรรมไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือติดมาตั้งแต่กำเนิด  หากแต่สร้างขึ้นด้วยความรู้สึกผิดชอบชั่วดีนางศีลธรรม  ซึ่งเราสะสมอยู่ภายในจิตใจของครู
การที่จะพัฒนาคุณธรรมครูเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและการที่ครูมีหลักคุณธรรมเป็นพื้นฐานต่อความเป็นครูแล้ว  สิ่งหนึ่งที่จะต้องทำและเป็นความคาดหวังจากสังคมว่า  ครูจะต้องเป็นแบบมาตรฐานแห่งความประพฤติดีประพฤติชอบมีสติสัมปชัญญะที่ดีนั้นตัวครูเองจะต้องหมั่นทบทวนบทบาทในอาชีพและมีความกระตือรือร้นที่จะต้องพัฒนาตนเองให้มีความรู้คู่คุณธรรมอยู่เป็นนิตย์    รศ. วิไล  ตั้งจิตสมคิด กล่าวว่าการส่งเสริมคุณธรรมเพื่อพัฒนาให้เหมาะสมกับอาชีพของความเป็นครูที่ดีมีวิธีการดังนี้
แนวทางการส่งเสริมคุณธรรมสำหรับครู
1.             การเลียนแบบจากตัวแบบที่ดี  นอกจากตัวครูมีแบบของตนเองแล้วต้องสังเกตเรียนรู้แบบอย่างที่ดีเด่นยอดเยี่ยมของเพื่อนครู ( แบบ )  ที่ได้รับการยกย่องจากสังคม  เป็นการกระตุ้นโน้มน้าวให้ครูมีความกระตือรือร้นที่จะปฏิบัติงานและพัฒนาตนเอง
2.             การรวมพลังกลุ่ม  เป็นการระดมความคิดในเชิงสร้างสรรค์  โดยการที่มีแนวคิดและวางแผนปฏิบัติ  เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อเพื่อนครูและกลุ่มครูด้วยกัน  เช่น  การรวมกลุ่มรณรงค์เพื่อประหยัดไฟฟ้า  น้ำมัน  การใช้เงิน การสร้างวินัยในความเป็นอยู่ที่ดีประหยัด  มัธยัสถ์พอเพียง  เป็นการประหยัดทรัพย์สินส่วนตัว  ส่วนรวมและราชการ
3.             การเพิ่มสมรรถภาพทางจิต  ด้วยวิธี
3.1              ฝึกการควบคุมอารมณ์ของตนเอง  ให้มีความยับยั้งชั่งใจ  มีวิจารณญาณ  ไตร่ตรองอย่างรอบคอบ  ศึกษาสาเหตุที่แท้จริงของพฤติกรรมนั้น ๆ ก่อน  เพราะโดยพื้นฐานแล้วมนุษย์เรามีพฤติกรรมทางอารมณ์อยู่  2  ประการในตัว คือ ความเป็นบวกกับลบ  เมื่อทราบสาเหตุแล้วก็ดับเสียแต่ต้น
3.2              พยายามเอาชนะอุปสรรคด้วยความมั่นสัญญาและมีสัจจะและเก็บบันทึกข้อมูล อันเป็นผลการปฏิบัติของตนเอง  โดยให้เพื่อนครูหรือผู้ใกล้ชิดเป็นผู้ประเมินผลความก้าวหน้าให้
3.3              การฝึกสมาธิ  เพื่อให้มีจิตใจสงบไม่ฟุ้งซ่าน  มีสติอยู่เสมอ  จะช่วยให้ครูมีความเชื่อมั่นในตนเองไม่เกิดความหลงในสรรพสิ่งรอบกาย  ก็จะทำให้เกิดความแจ่มใสในอารมณ์สามารถที่จะเพิ่มสมรรถภาพทางจิตใจให้กับตนเองได้เป็นอย่างดี  จะช่วยให้ครูได้ตระหนักและมองเห็นคุณค่าของสมาธิมีเหตุผลและหลักการประพฤติปฏิบัติสมาธิอย่างต่อเนื่องตลอดไปจนกลายเป็นนิสัยที่ดี

คุณธรรมมีความสำคัญต่อวิชาชีพครูอย่างไร
ครูและอาชีพครูหรือครูอาชีพนั้นมีความสำคัญต่อสังคมและตนเองเป็นอย่างยิ่ง  คุณธรรมเป็นเสมือนหลักการสำคัญ  ที่ให้ไว้สำหรับบุคคลหรือสังคมและผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ครูได้น้อมนำไปปฏิบัติจนเป็นลักษณะนิสัย  เพราะถ้าหากผู้มีคุณธรรมแล้ว  จะทำให้ปฏิบัติงานได้อย่างราบรื่นมีความสำเร็จในงานที่ทำเป็นคนดีของสังคมและประเทศชาติ
สำหรับครูกับคุณธรรมนั้นจะต้องเป็นคู่กัน  ถ้าหากครูขาดคุณธรรมเมื่อใดก็เหมือนนักบวชที่ไร้ศีล
เมื่อวันจันทร์ที่ 5  เมษายน  พ.ศ.2525  ในพระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า  ณ.ท้องสนามหลวงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงวพระราชทานหลักคุณธรรมสำหรับคนไทยเพื่อให้ยึดถือปฏิบัติมีอยู่  4  ประการ  คือ
1.             การรักษาความสัจ   ความจริงใจต่อตัวเองที่จะประพฤติปฏิบัติ  แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม
2.             การรู้จักข่มใจตนเอง  ฝึกใจตนเอง  ให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในสัตย์และความดี
3.             การอดทนอดกลั้นและอดออมที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัจสุจริตไม่ว่าจะด้วยเหตุประการใด
4.             การรู้จักละวางความซื่อ  ความทุจริตและรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตนเพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง
คุณธรรมทั้ง  4  ประการนี้จะช่วยให้ประเทศชาติบังเกิดความสุขร่มเย็น  โดยเฉพาะผู้ที่จำเป็นต้องยึดปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนเองและผู้อื่น
นอกจากมีหลักคุณธรรมเป็นหลักยึดปฏิบัติในวิชาชีพครูแล้วครูอาชีพและผู้ที่เป็นครูจะต้องไม่ล้าหลังในคุณค่าขององค์ความรู้และการเรียนรู้  จักต้องปรับบุคลิกให้เหมาะสมกับความเป็นครูที่ดีน่าเชื่อถือดำรงธาตุแท้ของความเป็นครูที่เรียกว่า  กัลยาณมิตรธรรม  ได้แก่ธรรมของผู้เป็นมิตรที่ดี  7  ประการ  ประกอบด้วย
1.             ปิโย จะโหติ  มนาโป เป็นผู้น่ารักน่าพอใจน่าเคารพของ
ผู้เรียน
2.             ครุ   เป็นผู้น่าเคารพและมีความหนักแน่นทำการค้นคว้าอย่าง
แท้จริง
3.             ภาวะนีโย      เป็นผู้น่าสรรเสริญมีความเป็นอยู่อย่างพอเพียง
4.             วัตตา              เป็นผู้ฉลาดพูดรู้จักชี้แจงเป็นที่ปรึกษาที่ดี
5.             วะจะนักขะโม             เป็นผู้ที่อดทนต่อถ้อยคำข้อเสนอแนะ
และคำวิพากษ์วิจารณ์
6.             คัมภีรัญจะ  กะถัง  กัตตา           เป็นผู้ที่พูดถ้อยคำได้ลึกซึ่ง
สามารถอธิบายเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อนให้เข้าใจได้และสอนได้ลึกซึ่งขึ้นไปอีก
7.             โนจัฏฐาเน  นิโยชะเย                                ไม่ชักนำในอฐานะ คือไม่ชัก
จูงไปในทางที่ผิดเสื่อมเสียหรือเรื่องที่เหลวไหล
หลักคุณธรรม  7  ประการนี้เมื่อนำมาบูรณาการเข้ากับความเป็นครูและวิชาชีพครู  ซึ่งเป็นวิชาชีพครูที่มีจรรยาบรรณเป็นแนวทางในการปฏิบัติวิชาชีพเช่นเดียวกับวิชาชีพอื่นตามหลักของวัฒนธรรมไทยถือว่าครูที่ดีจะต้องมี  หลักธรรม  3  สุ  นั้นก็คือ
1.   สุวิชาโน   คือ  เป็นผู้มีความรู้ดี
2.   สุสาสโน  คือ  เป็นผู้สอนดร  รู้จักชี้แจง  ชักจูง  ปลูกใจ  ให้เกิดความเพลิดเพลินในการเรียน
3.   สุปฏิปันโน  คือ  เป็นผู้มีความประพฤติปฏิบัติตนดี  เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์และบุคคลอื่น
                การบูรณาการหลักธรรม สุ ที่  1  กับความเป็นครู
1.             สุวิชาโน  หมายถึง  เป็นผู้มีความรู้ดี  ความรู้จักทางโลก  คือ  ความรู้ที่ปราศจากโทษ  เป็นความรู้ที่ก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ตนเองและผู้เรียน  เป็นความรู้ที่ไม่ก่อให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น  เป็นความรู้เพื่อการเสียสละและความเจริญต่อการพัฒนาชีวิตของตนเองประกอบด้วยใจความสำคัญ  4  ประการ คือ
1.1              เมตตา  การปรารถนาความสุขจากการศึกษาอยากให้ตนเองพ้นจากความโง่เขลา คือ  อ่านหนังสือไม่ออก  อยากให้ตนเองเรียนรู้และเข้าใจในหนังสือ  เป็นความรู้ที่อิงปรารถนาสุขแก่ตนเอง  เพราะเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความสุข  คือ  ความไม่รู้ในสิ่งต่าง ๆ  เมื่อขาดการปรารถนาจะเรียนรู้ เพื่อจะให้ตนเองพ้นจากความโง่  แล้วจึงจะเป็นความรู้ที่ดีได้
1.2              กรุณา  เมื่ออ่านหนังสือออก  ก็เกิดความสุขสำราญใจอัน  หมายถึง  การที่ตนเองพ้นจากความทุกข์คือความไม่รู้หนังสือนั่นเอง
1.3              มุทิตา  อาการแสดงความพลอยยินดี  เมื่อตนเองมีความรู้ที่ดีแสดงความปลาบปลื้มในขณะที่ตนนั้นเอาชนะความโง่เขลาได้
1.4              อุเบกขา  อาการวางเฉยเมื่อตนเองแก้ไขสถานการณ์ได้และหาทางแก้ไข  หาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อความรู้ขั้นใหม่ได้
อีกนัยหนึ่ง  การเป็นผู้มีความรู้ดี  ต้องปราศจากความรู้ที่อิงโทษที่เรียกว่า  ทุวิชาโน
ทุวิชาโน  ได้แก่ความรู้ที่ประกอบด้วยโทษ  ความรู้วิชาชีพที่ไม่ดี  มีแต่ความเสื่อม  อันประกอบด้วยอาการเรียนรู้เพื่อก่อให้เกิดความโลภ  เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น  สร้างความลำบากใจแก่ผู้อื่น  ความรู้ที่สร้างความโกรธแค้นและความรู้ที่ลุ่มหลง คือ รู้แล้วคอยแต่จะเพ่งโทษจะเอาดีเข้าตัวชั่วให้คนอื่น
การที่จะเป็นผู้มีความรู้ดีนั้น  ต้องเป็นความรู้ที่ประกอบด้วย  เมตตา  กรุณา  มุทิตา  และอุเบกขาที่จะสร้างความสุขให้แก่ตนเองและสังคม  ที่จะสร้างกัลยาณมิตรธรรมให้เกิดขึ้น  และเป็นความรู้ที่ปราศจากโทษที่อิงความโลภ  ความโกรธและความหลง  จึงจัดว่าเป็นความรู้ที่ดีของครูที่เรียกว่า  สุวิชาโน
การบูรณาการหลักธรรม  สุ  ที่ 2  กับความเป็นครู
2.             สุสาสโน  หมายถึง  ผู้สอนดี  อันหมายถึงการรู้จักชี้แจง  ชักจูง  ปลุกใจให้เกิดความเพลิดเพลินในการเรียน  ที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพและสัมฤทธิผลเกิดขึ้น  ซึ่งตรงกับหลักธรรมการสอนตามพุทธวิธี  4  ประการ  คือ
2.1              สันทัสสนา  การอธิบายให้เห็นชัดเจน แจ่มแจ้งเหมือนกับที่เรารู้  จูงให้เห็นด้วยตา
2.2              สมาทปนา  การสอนด้วยชักจูงใจให้เห็นจริงด้วยชวนให้คล้อยตามจนต้องยอมรับและนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์
2.3              สมุตเตชนา  การสอนด้วยวิธีการเร้าใจให้แกล้วกล้า  ปลุกให้เกิดอุตสาหะ แข็งขัน  มั่นใจว่าจะทำได้สำเร็จไม่หวั่นระย่อต่อความเหนื่อยยาก
2.4              สัมปหังสนา  การสอนด้วยชโลมใจให้แช่มชื่น  ร่าเริง  เบิกบาน  ฟังไม่เบื่อและเปี่ยมด้วยความหวัง  เพราะมองเห็นประโยชน์ที่ตนจะพึงได้รับจากการปฏิบัติ
ตามหลักวิธีการสอนพุทธวิธีให้เกิดผลดีรวมเป็นหัวใจของหลักการสอนสั้น  ๆ  ว่า แจ่มแจ้ง  จูงใจ  หาญกล้า  ร่าเริง  หรือชี้ชัด  เชิญชวน  คึกคัก  เบิกบาน
การบูรณาการหลักธรรม  สุ ที่  3 กับความเป็นครู

3.             สุปฏิปันโน  หมายถึง  การปฏิบัติดี  อันได้แก่การเป็นผู้มีความประพฤติปฏิบัติดี  เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์และบุคคลทั่วไป  เพราะการประพฤติตนเป็นอย่างที่ดีแก่ศิษย์ก็เป็นการสอนอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งจะเกิดสัมฤทธิผลแก่ผู้เรียนและดีกว่าการสอนด้วยการแนะนำ  ซึ่งรงกับหลักกัลยาณมิตรธรรม  7  ประการ  ดังกล่าวแล้ว  ซึ่งเป็นการสอนด้วยการปฏิบัติให้เป็นแบบอย่างที่ดี

No comments:

Post a Comment